ตามพิธีแบบแผนและครูพรานที่รำสนุก พร้อมปล่อยมุกตลกทะลึ่งตึงตังให้หัวเราะครื้นเครง
ซึ่งการหัดให้เป็นโนรานั้น ไม่ได้ทำกันง่ายๆ แต่ต้องอาศัยใจรักและการฝึกฝนอย่างหนักตั้งแต่วัยเด็ก
ครูคล้อย วิเชียร ครูโนราจังหวัดตรัง เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ครูอายุ ๗ ขวบก็เริ่มขับกลอนเป็น
บทดอกสร้อยแล้วเพราะมีเชื้อสายปู่ย่าเป็นโนรามา หลังจากนั้นพออายุ ๘ ขวบ ครูก็เริ่มหัดโนรา
ครูจำได้ว่าต้องเอามือใส่ครกทิ่มข้าว (ครกตำข้าว) แล้วเอาสากกดไว้ให้มืออ่อน เจ็บร้องไห้อยู่
หลายวัน กว่ามือนิ้วจะเปลี่ยนสภาพเป็นอ่อนเช้งตวัดมือให้รำโนราได้คล่องครั้นเริ่มเป็นหนุ่ม
มีพุงพลุ้ย หน่วยก้านปฏิภาณดีแล้ว ครูจึงขยับมารำพราน
ฝ่ายอาจารย์สงวน บัวเพชร คนรัตภูมิ เมืองสงขลา วัย ๓๒ ปี ซึ่งรำพรานได้สนุกมากๆ
ก็เล่าให้ฟังว่า ออกพรานยากกว่ารำโนรา เพราะโนราคนรำไม่เป็นยังหัดได้ แต่ออกพรานยาก
ตรงลูกเล่น มุกตลกเข้ามาพูดแทรกให้ขำ จึงไม่ค่อยมีใครสมัครใจรำพรานเท่าใดนัก อีกอย่างหนึ่ง
คือคนรำพรานต้องหุ่นให้ด้วย ยิ่งอ้วนพุงพลุ้ยเท่าไหร่ยิ่งดี คนผอมเป็นพรานไม่ได้ หากหุ่นไม่ให้
ท่าไม่ไป มายืนทื่อมะลื่ออยู่กลางโรง ต่อให้ใจรักอย่างไร ก็ไม่อาจออกพรานกับเขาได้
ในคณะโนรานั้น พวกที่รำพรานคือรสชาติอันถึงใจและสนุกครื้นเครง โดยเฉพาะเวลา
ขึ้นเวทีอย่างทะลึ่งตึงตัง เผชิญหน้ากับฝ่ายรำโนราอันศักดิ์สิทธิ์และมีแบบแผน เป็นการปะทะ
สังสรรค์ของพลังสองขั้วที่เข้มข้นไม่แพ้กัน
วัฒนธรรมการรำโนราในทุกวันนี้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้ฟู่ฟ่าทันสมัย
ขึ้นมาก ใช้การปักเลื่อมวิบวับระยิบระยับไปทั้งตัว ดนตรีประกอบกลายเป็นวงสตริงรุ่นใหม่
มีกลองชุด กีตาร์ อิเล็กโทน เครื่องดนตรีไฟฟ้าให้จังหวะเสียงดังสนั่น ไม่ใช่เครื่องดนตรี ปี่
โทน ฉิ่ง กรับ ตะโพนเหมือนในวันวาน โนรารุ่นใหม่ที่เล่นตามงานเทศกาลใหญ่ๆ งานวัด
งานทางวัฒนธรรมของจังหวัดภาคใต้ มีพัฒนาการให้ทันโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป
อย่างรวดเร็วกันมากแล้ว
|